ทำความรู้จักกับกองทุนรวม ข้อดี-ข้อเสีย ของการลงทุนในกองทุนรวม รวมถึง วิธีการเลือกกองทุนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในการลงทุน
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ ก็คือการลงทุนในกองทุนรวม นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก เพราะสามารถลงทุนได้ทั้งนักลงทุนมือใหม่และนักลงทุนที่มีประสบการณ์มาแล้ว วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับกองทุนรวมให้มากขึ้นก่อนจะเริ่มลงทุน ว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร และจะเลือกกองทุนอย่างไรให้ได้กำไรจากการลงทุน
กองทุนรวม คืออะไร?
กองทุนรวม เป็นการระดมเงินจากนักลงทุนหลายๆ คนนำมารวมกันไว้เป็นกองใหญ่กองเดียว จากนั้นก็นำเงินที่ได้ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร
กองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ดูแลกองทุนในเรื่องกระจายพอร์ตการลงทุนและบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ส่วนเรื่องของผลตอบแทนและความเสี่ยงนนั้นจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของแต่ละกองทุน
ข้อดีและข้อเสียของกองทุนรวม
ก่อนที่จะเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม สิ่งที่ทุกคนควรรู้จักเป็นอย่างแรกก็คือเรื่องของ ข้อดี-ข้อเสีย ของกองทุนรวมว่ามีอะไรบ้าง จะช่วยให้มองเห็นภาพและตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น
ข้อดีของกองทุนรวม
1.มีการจัดการอย่างมืออาชีพ
- การบริหารจัดการกองทุนจะถูกดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถวิเคราะห์ตลาดและตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ เหมาะกับผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน
2.ช่วยกระจายความเสี่ยง
- การลงทุนในกองทุนรวม เป็นการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงให้น้อยลง สามารถช่วยบรรเทาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และช่วยเพิ่มกำไรจากการลงทุน
3.มีสภาพคล่องสูง
- การลงทุนในกองทุนรวม นักลงทุนสามารถขายคืนหุ้นของตนได้ทุกวันตลอดที่ตลาดเปิด ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเข้าถึงเงินสดได้อย่างง่ายดาย
4.มีความโปร่งใส
- กองทุนรวมได้รับการควบคุมโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นผู้ดูแลกำกับดูแลและควบคุมกองทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนตามนโยบายที่ระบุเอาไว้ในหนังสือชี้ชวน ทำให้มีความโปร่งใส 100%
ข้อเสียของกองทุนรวม
1.ต้นทุนที่อาจสูงขึ้น
- ถึงแม้ว่ากองทุนรวมจะมีการบริหารจัดการโดยมืออาชีพ แต่ก็มาพร้อมกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกที่จะตามมา
- เมื่อเวลาผ่านไปค่าใช้จ่ายตรงนี้อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่จะได้รับ เช่น ได้ผลตอบแทนที่ต่ำลง
2.ไม่สามารถควบคุมเงินลงทุนได้
- นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวม จะต้องฝากเงินและฝากความหวังของตนเองไว้กับผู้จัดการกองทุน ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ว่าเงินของตนจะนำไปลงทุนที่ไหนบ้าง คนที่ชอบลงทุนเองอาจจะไม่ชอบใจตรงนี้ก็ได้
3.มีการกระจายการลงทุนมากเกินไป
- ถึงแม้การกระจายการลงทุนจะช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่การกระจายการลงทุนที่มากเกินไปอาจทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับลดลง
4.ผลตอบแทนไม่แน่นอน
- ผลตอบแทนของกองทุนรวมอาจมีความผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสั้นๆ
- ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนของตลาด อาจทำให้เงินทุนที่ลงทุนของคุณเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตลาดในขณะนั้น
วิธีการลงทุนในกองทุนรวมแบบมือใหม่
เพื่อเป็นแนวทางในการลงทุนให้กับนักลงทุนมือใหม่ ต่อไปนี้จะเป็นแนวทางขั้นตอนการลงทุนที่คนสนใจกองทุนรวมควรรู้ เพราะสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง และช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นได้
1. ทำความรู้จักกับกองทุนรวมแต่ละประเภทให้ครบ
- ต้องบอกก่อนว่ากองทุนรวมมีหลายประเภทให้เลือก
- ก่อนที่เราจะไปลงทุนในกองทุนรวมนั้น ต้องทำความรู้จักให้ครบก่อนว่า มีกองทุนประเภทใดบ้าง แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร เพื่อจะได้เลือกลงทุนได้อย่างถูกต้องและตอบโจทย์กับสไตล์การลงทุนของเรา ดังนี้
1.1 กองทุนรวมตลาดการเงิน
- ถือว่าเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุดเมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่น เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ แต่จะได้ผลตอบแทนค่อนข้างน้อย
- ส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนมักจะใช้เป็นที่ฝากเงิน เช่น การลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้คุณภาพดีอายุต่ำกว่า 1 ปี
1.2 กองทุนรวมตราสารหนี้
- เป็นกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงอยู่ในขั้นต่ำถึงปานกลาง มีการจ่ายผลตอบแทนสม่ำเสมอเป็นดอกเบี้ย
- กองทุนนี้จะเน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงินและ หุ้นกู้ของภาพเอกชน
- ราคาของกองทุนตราสารหนี้มีการผันผวนได้ตามสภาวะของตลาดในช่วงนั้น ซึ่งอาจจะขึ้นหรือลงก็ได้ ฉะนั้นการลงทุนที่เหมาะสมควรเลือกลงทุนอย่างน้อย 1 ปี ตามคำแนะนำการลงทุน
1.3 กองทุนรวมผสม
- เป็นการลงทุนในทรัพย์สินหลายชนิดรวมกัน ได้แก่ ตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์อื่นๆ ส่วนเรื่องของความเสี่ยงและการจ่ายผลตอบแทนนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของสินทรัพย์ที่ลงทุนว่า
- หากเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในเปอร์เซ็นต์ที่สูง และสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำ ก็แสดงว่ากองทุนนี้มีความเสี่ยงสูง เช่น ลงทุนในหุ้น 90 เปอร์เซ็นต์ ลงทุนในตราสารหนี้ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
- ในทางกลับกัน หากเลือกลงทุนในทรัพย์สินความเสี่ยงต่ำในเปอร์เซ็นต์ที่สูง และเลือกลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำ ก็แสดงว่ากองทุนนี้มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ลงทุนในหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และลงทุนในตราสารหนี้ 80 เปอร์เซ็นต์
- กองทุนรวมประเภทนี้ เหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงตั้งแต่ปานกลางถึงไปจนถึงความเสี่ยงสูงได้
1.4 กองทุนรวมตราสารทุน หรือ กองทุนรวมหุ้น
- กองทุนประเภทนี้เน้นการลงทุนให้หุ้น เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ
- การลงทุนในกองทุนหุ้น มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเช่นกัน
- เหมาะกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์ ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงระดับนี้ได้ สามารถลงทุนในระยะยาวได้ และสามารถยอมรับความเสี่ยงการขาดทุนในระยะสั้นได้
1.5 กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ
- เป็นกองทุนที่จะนำเงินลงทุนไปลงทุนในกองทุนของต่างประเทศ ลักษณะก็จะคล้ายกับกองทุนรวมในประเทศนั่นเอง เช่น กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนหุ้นต่างประเทศ
- ด้วยความแตกต่างเรื่องภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสภาพสังคมแตกต่างจากของไทย ฉะนั้นผลตอบแทนที่ได้รับอาจแตกต่างจากการลงทุนในกองทุนรวมในไทย
- การลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี แต่นักลงทุนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในเรื่องของกองทุนแต่ละกองแล้ว ยังต้องรับความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และความผันผวนของค่าเงินด้วย
1.6 กองทุนรวมที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก
- เป็นการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกอื่นๆ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำและน้ำมันดิบ
- กองทุนประเภทเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงในระดับที่สูงที่สุด เพราะราคาสินทรัพย์เหล่านี้มีการผันผวนในเรื่องราคาค่อนข้างสูงมาก และสภาพคล่องอาจน้อยด้วยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น
- การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ เหมาะกับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในทรัพย์สินประเภทนี้โดยเฉพาะ สามารถยอมรับความเสี่ยงในระดับที่สูง และลงทุนในระยะยาวได้
2. ตรวจสอบรายละเอียดของกองทุนรวม
ก่อนจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมประเภทใดนั้น นักลงทุนจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องที่สำคัญก่อน ได้แก่
2.1. ตรวจสอบนโยบายในการลงทุน
- อย่างแรกเลยนักลงทุนต้องตรวจสอบก่อนว่า เงินที่เราลงทุนไปนั้น จะถูกนำไปลงทุนในทรัพย์สินประเภทใดบ้าง มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และมีความเสี่ยงเท่าไหร่
- การตรวจสอบนโยบาย จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่ากองทุนนี้เหมาะกับเราหรือไม่ ตอบโจทย์กับการลงทุนของเราหรือไม่
2.2. ระดับความเสี่ยงของกองทุน
- กองทุนรวมแต่ละกองทุนมีระดับความเสี่ยงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะลงทุนในทรัพย์สินประเภทใด
- ระดับความเสี่ยงมีทั้งหมด 1-8 โดยระดับ 1 เป็นความเสี่ยงต่ำสุด และความเสี่ยงระดับ 8 เป็นความเสี่ยงสูงสุด
- กองทุนรวมบางกองทุนอาจมีการระบุเอาไว้ในหนังสือชี้ชวนเลยว่า ความเสี่ยงอยู่ในระดับใด ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรตรวจสอบให้ดีก่อนเลือกกองทุน
2.3. ตรวจสอบการจ่ายผลตอบแทนของกองทุนรวม
- นักลงทุนควรตรวจสอบผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนที่คุณสนใจก่อน ว่ามีการจ่ายผลตอบแทนอย่างไร เพราะตรงนี้จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าในอนาคตการจ่ายผลตอบแทนจะมีแนวโน้มไปทิศทางไหน
- แนะนำว่าควรตรวจสอบย้อนหลังไปอย่างน้อย 5 ปี เพื่อความมั่นใจก่อนเริ่มลงทุน
2.4.ศึกษาในหนังสือชี้ชวน
- ในหนังสือชี้ชวนจะมีข้อมูลที่สำคัญหลายอย่างที่นักลงทุนควรรู้ เช่น กลยุทธ์ในการบริหารกองทุนว่าใช้แบบไหน แบบรุกหรือแบบรับ
- นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการลงทุนในอดีตให้ศึกษาประกอบด้วยเช่น อัตราการขาดทุนสูงสุดในอดีตของกองทุน,ค่าธรรมเนียม ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้นักลงทุนประเมินประสิทธิภาพของกองทุนได้แน่ชัดมากขึ้น
3. กำหนดเป้าหมายในการลงทุน
การกำหนดเป้าหมายในการลงทุน เป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลย ว่าเรามีจุดประสงค์ในการลงทุนอย่างไร เพื่ออะไร จะได้เลือกกองทุนได้เหมาะสมกับกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
เคล็ดลับในการตั้งเป้านั้น แนะนำว่าให้ใช้กลยุทธ์แบบ SMART คือ
- Specific – เป้าหมายมีความเฉพาะเจาะจง
- Mesurable – สามารถวัดผลได้
- Achievable สามารถทำได้จริง
- Realistic – สามารถเป็นไปได้จริง
- Time Bound – มีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจน
4. มีกลยุทธ์ในการลงทุน
คือการเลือกกลยุทธ์ในการลงทุนให้เหมาะสมกับกองทุน เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยพิจารณาจากประสบการณ์ของตัวเราเอง ได้แก่
4.1. กลยุทธ์แบบถัวเฉลี่ย
- เป็นกลยุทธ์ที่กำหนดเงินลงทุนเท่ากันในทุกๆ เดือน กลยุทธ์นี้เหมาะกับนักลงทุนที่เป็นมือใหม่และผู้ที่เน้นการลงทุนในระยะยาว
4.2. กลยุทธ์แบบใช้เงินก้อนใหญ่ก้อนเดียว
- เป็นการเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมและลงทุนโดยใช้เงินก้อนใหญ่ก่อนเดียว เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด เหมาะกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์มาแล้วและมีเงินทุนสูง
4.3. กลยุทธ์แบบ Satellite
- เป็นกลยุทธ์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งการลงทุนในระยะสั้นและระยะยาว เหมาะกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์มาแล้ว
กลยุทธ์ประเภทนี้ยังแยกย่อยได้อีก 2 แบบคือ
4.3.1) Core เหมาะกับความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง และเน้นการลงทุนระยะยาว
4.3.2) Satellite เหมาะกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และเน้นการลงทุนในระยะสั้น
5. ปรับพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
- โลกของการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่มีกองทุนใดที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีตลอดไปได้ ทุกกองทุนมีโอกาสที่จะทำกำไรและขาดทุนได้เสมอ
- การดูแลและปรับพอร์ตให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้นอีกด้วย
- สุดท้ายอย่าลืมตรวจสอบว่ากลยุทธ์การลงทุนของเรา ยังสอดคล้องกับเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้หรือไม่ หากมีการเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลง ก็ควรปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกันอยู่เสมอ
สรุปท้ายบท
การลงทุนในกองทุนรวม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญและได้ผลจริงในการลดความเสี่ยงการลงทุน หลังจากที่เราได้รู้จักข้อดี-ข้อเสียของกองทุนรวม และได้รู้จักวิธีการเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมไปแล้ว หลายท่านก็น่าจะมีความมั่นใจมากขึ้นในการลงทุน
ดังนั้นท่านสามารถค้นหากองทุนรวมที่สนใจได้เลย มีหลายกองทุนให้เลือกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการการปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 5 ข้อที่ได้กล่าวเอาไว้แล้วข้างต้นเป็นหลัก จะได้ไม่ออกนอกเส้นทาง เพียงเท่านี้เราก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนมากขึ้น และเสี่ยงน้อยลงแล้ว แค่รู้จักวิธีการจัดการที่ถูกต้องเท่านั้น