15 แนวทางการลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงิน

15 แนวทางการลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงิน

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จทางการเงิน เชื่อว่าหลายคนคงมองหาแนวทางอยู่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกลงทุนอย่างไรดี ถึงจะสำเร็จตามเป้าที่วางเอาไว้ และการลงทุนทุกวันนี้ก็มีตัวเลือกให้เลือกเยอะ จนไม่รู้ว่าจะเลือกอย่างไรดี

ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด บทความนี้สามารถช่วยคุณได้ ทุกท่านจะได้พบกับแนวทางการลงทุนที่ดีที่สุด 15 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะแตกต่างกันออกไปทั้งเรื่องของความยากง่าย และความเสี่ยงในการลงทุน เมื่อทุกท่านเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสประสบความสำเร็จทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน คืออะไร?

อิสรภาพทางการเงิน หมายถึง การที่เราสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้โดยไม่ต้องเครียดกับผลกระทบทางการเงินมากเกินไป เพราะว่าเราได้เตรียมพร้อมทางการเงินสำหรับสิ่งต่างๆ ในชีวิตเอาไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดการหนี้สิน เงินออมในธนาคาร และเงินออมสำหรับการลงทุนเพื่ออนาคต

หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ คุณสามารถควบคุมการเงินของคุณได้แทนที่จะถูกควบคุมโดยการเงิน ฉะนั้นเมื่อเรามีอิสระทางการเงิน ก็ไม่ต้องกังวลว่าบัญชีธนาคารจะพอกับการซื้อสิ่งของต่างๆ และต่อให้สถานการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในชีวิต ก็ไม่มีความกังวลอีกแล้ว

15 แนวทางในการลงทุนที่ เพื่อมีอิสรภาพทางการเงิน

ต่อไปเรามาดูแนวทางการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทกัน ว่าแตกต่างกันอย่างไร และเราควรเลือกลงทุนกับอะไรดี ถึงจะเหมาะสม และมีโอกาสประสบความสำเร็จทางการเงิน จนมีอิสรภาพทางการเงินในที่สุด

1. หุ้น

  • หุ้น ก็คือส่วนหนึ่งของการเป็นเจ้าของในบริษัท เพราะฉะนั้นการซื้อหุ้น ก็คือการที่คุณได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทนั้นๆ
  • เมื่อคุณเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัท คุณก็จะได้รับผลตอบแทน 2 วิธี คือ เงินปันผลจากผลประกอบการของบริษัท และ การขายหุ้นที่คุณถือครองอยู่ในราคาที่สูงกว่าตอนที่ซื้อ
  • ราคาหุ้นของบริษัทมักจะสัมพันธ์กับรายได้ ดังนั้นยิ่งบริษัทมีรายได้มากขึ้นในแต่ละปี ราคาหุ้นก็จะสูงขึ้น
  • ถึงแม้ว่าหุ้นจะให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน บริษัทที่มีศักยภาพมากมายอาจล่มสลายได้เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมือง

2. พันธบัตร

  • พันธบัตรเป็นตราสารหนี้ที่รัฐบาลออกเพื่อระดมเงินทุนสำหรับโครงการต่างๆ เมื่อคุณซื้อพันธบัตร คุณคือผู้ให้เงินกู้แก่ผู้ออกพันธบัตรนั่นเอง
  • หลังจากที่มีการซื้อขายพันธบัตร ผู้ออกพันธบัตรจะจ่ายดอกเบี้ยให้กับคุณ และเมื่อพันธบัตรถึงวันครบกำหนด ผู้ออกพันธบัตรจะคืนเงินลงทุนเดิมคืนแก่นักลงทุน
  • พันธบัตรมีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้น แต่ก็มีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าด้วย หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น พันธบัตรก็จะมีมูลค่าลดลง เนื่องจากพันธบัตรใหม่จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า

3. ตราสารหนี้

  • ตราสารหนี้ เป็นสัญญาระหว่างผู้กู้ (ผู้ออกตราสาร) และผู้ให้กู้ (ผู้ที่ถือครองตราสารหนี้)
  • โดยตัวของผู้ที่ซื้อหรือผู้ที่ถือครองตราสารหนี้ จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย ตามระยะเวลาที่กำหนด และจะได้รับเงินต้นคืน เมื่อครบกำหนดการกู้ยืมตราสารหนี้
  • จุดเด่นของการลงทุนในตราสารหนี้คือมีโอกาสที่จะสูญเสียเงินน้อยมาก แต่ก็ยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการลงทุนประเภทอื่น นอกจากนี้ผลตอบแทนอาจต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อด้วย

ประเภทของตราสารหนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • ตราสารหนี้ภาครัฐ เป็นตราสารที่ออกโดยรัฐบาลและหน่วยงานของภาครัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
  • ตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน เช่น ตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้

4. กองทุนรวม

  • กองทุนรวม เป็นการรวบรวมเงินจากนักลงทุนรายย่อยต่างๆ แล้วนำไปลงทุนในหุ้น พันธบัตร และตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ
  • กองทุนเหล่านี้บริหารจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้ที่จำเป็นในการคัดเลือกตราสารที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุนสูงสุด
  • การลงทุนในกองทุนรวม เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ซึ่งช่วยลดโอกาสเกิดหายนะทางการเงินด้วย
  • กองทุนรวมช่วยให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถกระจายความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น แทนที่จะต้องเสียเงินซื้อหุ้น 10 ตัว คุณสามารถซื้อกองทุนรวมเพียงกองทุนเดียวและลงทุนในหุ้น 50 ตัวได้
  • คุณสามารถสร้างรายได้จากกองทุนรวมได้ 2 วิธีคือ จากเงินปันผล และจากการหายหุ้นในกองทุนรวม

5. กองทุน ETF

  • กองทุน ETF (Exchange Traded Fund) เป็นกองทุนที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกับการซื้อขายหุ้นรายตัว และมีการซื้อขายแบบ Real Time อีกทั้งยังมีการกระจายความเสี่ยงเหมือนกับกองทุนรวมด้วย
  • กองทุน ETF มีผู้ดูแลสภาพคล่องของกองทุนให้มีสภาพคล่องอยู่ตลอดเวลา
  • การลงทุนในกองทุน ETF ใช้เงินลงทุนน้อย และค่าใช้จ่ายในการซื้อขายก็ต่ำกว่ากองทุนรวมทั่วไป และการจ่ายผลตอบแทนก็ใกล้เคียงกัน
  • การซื้อขาย ETF ต้องซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์เท่านั้น เพราะ ETF เป็นกองทุนที่จดทะเบียนการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพราะฉะนั้นจึงมีการซื้อขายเหมือนกับหุ้นตัวหนึ่ง
  • สำหรับความเสี่ยงของ ETF ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของราคาทรัพย์สินอ้างอิงที่ ETF ลงทุนด้วย ดังนั้นเมื่อมูลค่าของทรัพย์สินของ ETF เปลี่ยนไป ราคาก็จะเพิ่มหรือลดตามมูลค่าด้วย

6. อสังหาริมทรัพย์

  • อสังหาริมทรัพย์ เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น บ้าน ที่ดิน คอนโด อพาร์ทเม้นต์
  • อสังหาริมทรัพย์อาจเป็นการลงทุนที่ดีในการสร้างรายได้หรือเพื่อการเพิ่มมูลค่าในระยะยาว จากการขายเพื่อเอากำไร และจากการให้เช่า
  • การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำและอาจขายออกได้ยากในเวลาอันสั้น
  • และไม่ใช้นักลงทุนทุกคนที่จะมีทุนเพียงพอที่จะลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะใช้เงินทุนค่อนข้างสูง

7. กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)

  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับระดมทุนจากนักลงทุน เพื่อนำไปใช้ในการซื้อหรือพัฒนาโครงการใหม่
  • นักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินทุนสูงเหมือนกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยตรง
  • REIT มีผู้บริหารจัดการเงินลงทุนโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้วย
  • นักลงทุนสามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้หลายประเภท ทั่งในประเทศและต่างประเทศ และยังสามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำมาลงทุนได้ด้วย
  • นักลงทุนที่ต้องการความมั่นคงระยะยาว และต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน การลงทุนใน REIT เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น

8. ทองคำ

  • นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าทองคำเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาวะเงินฝืด และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แม้ว่าหุ้นจะตกต่ำในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ทองคำกลับทรงตัวได้ดี
  • อีกอย่างทองคำยังถูกมองว่าเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ นักลงทุนจึงนิยมสะสมทองคำแทนที่จะสะสมเงินสด
  • ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงนิยมลงทุนในทองคำเพื่อกระจายพอร์ตการลงทุนและลดความเสี่ยงความผันผวนจากการลงทุน
  • การลงทุนในทองคำอาจต้องใช้เงินทุนสูง หากต้องการผลตอบแทนที่สูง

9. สกุลเงินดิจิทัล

  • สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
  • สกุลเงินดิจิทัลที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH) และ Solana (SOL)
  • การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลมีความเสี่ยง เนื่องจากราคามีความผันผวนสูง
  • นอกจากนี้ สินทรัพย์เหล่านี้ยังไม่มีการควบคุมเหมือนกับสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น หุ้นและพันธบัตร
  • คุณสามารถสร้างรายได้จากสกุลเงินดิจิทัลโดยการซื้อมาขายไป หรือการเทรด (เทรดระยะสั้น เทรดระยะกลาง และเทรดระยะยาว) อีกหนึ่งวิธีก็คือการซื้อและถือไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย จากนั้นก็รอขายในช่วงที่ราคาเพิ่มสูงขึ้น
  • การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล มีความเสี่ยงที่สูง แต่ก็มีศักยภาพในการได้รับผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน (อาจเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่าของเงินทุนภายในเวลาไม่กี่เดือน)

10. ธุรกิจเงินร่วมลงทุน

  • ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) หรือที่เรียกกันว่า VC เป็นธุรกิจที่เน้นการลงทุนกับบริษัทสตาร์ตอัพ (Startup) หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยการให้เงินสนับสนุนกับธุรกิจเหล่านี้
  • บริษัทสตาร์ทอัพที่คุณลงทุน อาจกลายเป็นบริษัทที่ให้ผลกำไรอย่างยอดเยี่ยม แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
  • การลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ คุณไม่สามารถดูผลงานในอดีตได้เลย ต่างจากการซื้อหุ้น ซึ่งนักลงทุนต้องฝากความหวังไว้กับศักยภาพของเจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัพเท่านั้น

11. การเริ่มต้นธุรกิจ

  • การเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเองก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถบรรลุอิสรภาพทางการเงินได้ หากคุณมีไอเดียธุรกิจที่ดี และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
  • ข้อดีของการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเองก็คือ คุณมีโอกาสที่จะสร้างรายได้มากกว่าการลงทุนในธุรกิจของคนอื่น
  • แต่การเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเองทั้งหมด ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่ตามมาด้วยเช่นกัน อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ และบางครั้งอาจล้มเหลวก็ได้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของตัวคุณเอง

12. บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง

  • บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงจะคล้ายกับบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณเพิ่มเงินในบัญชีได้เร็วขึ้น
  • ข้อดีคือบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงมีความเสี่ยงน้อย และบัญชีเหล่านี้ก็ได้รับการคุ้มครองจากธนาคารด้วย และได้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น
  • หากอัตราดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงต่ำเกินไป คุณก็อาจพ่ายแพ้ให้กับอัตราเงินเฟ้อก็ได้ นั่นหมายความว่าผลตอบแทนที่เราคาดหวัง อาจจจะลดลงเรื่อยๆ

13. อนุพันธ์

  • อนุพันธ์คือ เป็นสัญญาการซื้อขายที่อ้างอิงกับสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น พันธบัตร และสินค้าโภคภัณฑ์
  • ประเภทของตราสารอนุพันธ์จะแบ่งออกทั้งหมดได้ 4 ประเภทคือ Forward (ฟอร์เวิร์ด), Futures (ฟิวเจอร์ส), Swap (สวอป) และ Option (ออปชั่น)
  • อนุพันธ์สามารถนำมาใช้เพื่อเก็งกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้
  • การลงทุนในอนุพันธ์เป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยง ดังนั้น อนุพันธ์จึงอาจไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป

14. สินค้าโภคภัณฑ์

  • สินค้าโภคภัณฑ์คือผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ซึ่งคุณสามารถลงทุนได้ แบ่งเป็น 4 ประเภทดังนี้คือ
  • โลหะ : โลหะมีค่า (ทองคำและเงิน) และโลหะอุตสาหกรรม (ทองแดง)
  • ผลิตภัณฑ์การเกษตร : ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง
  • ปศุสัตว์ : หมูสามชั้น และวัวขุน
  • พลังงาน : น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ
  • สินค้าโภคภัณฑ์มีความเสี่ยงมีการเคลื่อนไหวของราคาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในตอนที่มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหัน
  • ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองอาจเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินค้าบางอย่าง เช่น น้ำมันได้อย่างมาก ในขณะที่สภาพอากาศอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
  • นักลงทุนที่จะลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ จะต้องมีความเชี่ยวชาญและรอบรู้เกี่ยวกับสินค้าที่ต้องการลงทุนเท่านั้น

15.กองทุนรวมดัชนี

  • กองทุนรวมดัชนี เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่มีนโยบายในการลงทุนในหลักทรัพย์ ได้แก่ ดัชนี SET50 Index, SET100 Index
  • กองทุนดัชนี มีเป้าหมายที่จะรักษาผลตอบแทนจากการลงทุนให้อยู่ในระดับเดียวกับดัชนีอ้างอิง เป็นลักษณะการลงทุนเชิงตั้งรับ ซึ่งต่างจากกองทุนรวมที่บริหารจัดการแบบเชิงรุก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาชนะตลาด
  • ข้อดีของกองทุนรวมดัชนีคือ มีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพดีกว่ากองทุนที่บริหารจัดการเชิงรุกและมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า
  • ข้อเสียคือ กองทุนดัชนีได้รับการออกแบบมาเพื่อให้มีความเท่าทันตลาดอยู่เสมอ ฉะนั้นพอร์ตการลงทุนของคุณจึงอาจเกิดความผันผวนอย่างมาก
  • หากคุณไม่พร้อมที่จะเฝ้าดูความผันผวนของตลาดหุ้น กองทุนรวมดัชนีอาจไม่เหมาะกับคุณ

วิธีการเลือกการลงทุนที่ดีที่สุด

การลงทุนที่ดีที่สุดในตอนนี้จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะของแต่ละท่าน และในขณะที่คุณพิจารณาตัวเลือกการลงทุนของคุณ ให้พิจารณาเงื่อนไขเหล่านี้ด้วยเสมอ ได้แก่

1.เป้าหมายทางการเงินอื่น ๆ

  • ก่อนที่คุณจะเริ่มลงทุน ลองนึกถึงลำดับความสำคัญทางการเงินของคุณก่อน ว่ามีเป้าหมายอะไร เช่น การสร้างกองทุนฉุกเฉิน ต้องการดาวน์บ้าน ต้องการซื้อรถใหม่ เป็นต้น

2.การยอมรับความเสี่ยง

  • การลงทุนทุกประเภท ล้วนมีความเสี่ยงทั้งหมด การยอมรับความเสี่ยงที่มากขึ้นมักจะส่งผลให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วย
  • แต่ถ้าคุณไม่พร้อมที่จะรับความเสี่ยงมากขึ้น คุณจะต้องยอมรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง

3.ระยะเวลาในการลงทุน

  • หากคุณมีความประสงค์จะใช้ในระยะสั้นนั้นควรเก็บไว้ในรูปแบบการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ
  • แต่ถ้าคุณมีแผนการลงทุนในระยะยาว การเลือกสินทรัพย์ที่มีความผันผวนมากขึ้นอาจช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

สรุปท้ายบท

ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางการลงทุน 15 ประเภท ที่เราอยากแนะนำทุกท่าน เพื่อเป็นไอเดียในการลงทุน หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ และสามารถเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนได้ตอบโจทย์กับความต้องการ เมื่อเราเริ่มต้นด้วยการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ใช่ที่สุดสำหรับเรา โอกาสที่จะประสบความสำเร็จและมีอิสรภาพทางการเงิน ก็เป็นไปได้สูง

อย่างไรก็ตาม หากท่านใดที่รู้สึกว่ายังไม่มั่นใจ หรือมีประสบการณ์ในการลงทุนน้อย แนะนำว่าให้ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนก่อน ซึ่งจะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกลงทุนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งทราบกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการอีกต่างหาก ที่จะช่วยให้คุณเข้ามีอิสรภาพทางการเงินอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *