วิธีการประเมินสุขภาพทางการเงินของคุณก่อนลงทุน

วิธีการประเมินสุขภาพทางการเงินของคุณก่อนลงทุน

สิ่งที่นักลงทุนทุกคนไม่ควรพลาดก่อนเริ่มต้นลงทุน คือการตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของตนเองก่อน ว่าพร้อมที่จะลงทุนหรือยัง? ไม่ใช้คิดอยากจะลงทุนแล้วก็ทำได้เลย แบบนั้นถือว่ามีความเสี่ยงมาก ถ้ามองข้ามจุดนี้แล้วไปลงทุนเลย โอกาสที่จะประสบปัญหาทางการเงินถือว่าสูงทีเดียว ถือว่าเป็นด่านแรกที่นักลงทุนทุกคนควรให้ความสำคัญ

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปสำรวจสุขภาพทางการเงินก่อนเริ่มต้นลงทุน ว่ามีขั้นตอนอย่างไร ถ้าหากทำตามขั้นตอนต่อไปนี้แล้ว การลงทุนของท่านก็จะมีโอกาสสำเร็จ และไม่เสี่ยงประสบปัญหาทางการเงินในภายหลังด้วย

สุขภาพการเงิน คืออะไร

สุขภาพทางการเงิน เป็นสิ่งที่บ่งบอกสถานการณ์การเงินของตัวเราว่าอยู่ในสถานะอะไร มีเพียงพอที่จะใช้จ่ายกับค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือไม่ มีเงินเก็บ เงินออมสำรองเพียงพอหรือไม่ มีการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ หรือไม่ และมีการวางแผนจัดการค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกสถานการณ์การเงินได้ทั้งหมด

การตรวจสุขภาพทางการเงิน จึงเป็นการสำรวจความพร้อมด้านการเงินในแต่ละด้าน ว่ามีความพร้อมหรือไม่ ถ้ามีแล้ว ก็จะได้วางแผนในขั้นต่อไป เช่น วางแผนลงทุน แต่หากยังไม่พร้อม ก็จะได้เริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจต้องใช้เงินในอนาคต

ขั้นตอนในการประเมินสุขภาพทางการเงิน

ในการประเมินสุขภาพทางการเงิน สามารถทำได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้ ได้แก่

1. สำรวจทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด

  • ขั้นตอนแรกเป็นการสำรวจทรัพย์ที่คุณเป็นผู้ครอบครองอยู่ทั้งหมดก่อน
  • ซึ่งการสำรวจนั้นต้องสำรวจทรัพย์สินทุกประเภทและหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด ดังต่อไปนี้

1.1 ประเภทของสินทรัพย์

  • สินทรัพย์หมุนเวียน เช่น เงินที่ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ในธนาคาร และเงินสดทั้งหมดที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
  • สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เช่น อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน อพาร์ทเม้นต์ คอนโด ที่ดิน และ เงินลงทุนระยะยาว
  • สินทรัพย์เพื่อการลงทุน เช่น เงินในกองทุน เงินฝากประจำ เงินสำหรับซื้อกองทุน

1.2 ประเภทหนี้สิน

  • หนี้สินระยะสั้น เช่น การผ่านสินค้าที่ต้องผ่อนชำระภายใน 1 ปี และหนี้บัตรเครดิต
  • หนี้สินระยะยาว เช่น การกู้ยืมเงิน กยศ. สินเชื่อการบ้านหรือรถยนต์

ตอนนี้เราก็ได้ทราบแล้วว่าสินทรัพย์ที่เรามีและหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นอย่างไร ต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนในการประเมินสุขภาพทางการเงินของเราในการคำนวณหา “ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน” และ “ทรัพย์สินที่ควรมี” ซึ่งจะเป็นการคำนวณหาจากสูตรนั้นเอง โดยการใช้สูตร

(สินทรัพย์รวม) – (หนี้สินรวม) = ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน

อายุ x รายได้ต่อปี x 10% = ทรัพย์สินที่ควรมี

ตัวอย่างที่ 1 วิธีคำนวณหาทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน

นายประทีป อายุปัจจุบัน 35 ปี ได้รับเงินเดือน 40,000 บาทต่อเดือน มีสินทรัพย์ทั้งหมดมีมูลค่ารวมกันเป็นเงิน 3,000,000 บาท และมีหนี้สินรวมทั้งหมด 500,000 บาท ดังนั้นทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบันของนายประทีป เท่ากับ 2,500,0000 บาท

จากสูตร (สินทรัพย์รวม) – (หนี้สินรวม) = ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน

จะได้เท่ากับ (3,000,000 ) – (500,000) = 2,500,000 บาท

ตัวอย่างที่ 2 วิธีคำนวณหาทรัพย์สินที่ควรมี

จากสูตร (อายุ) x (รายได้ต่อปี) x (10%) = ทรัพย์สินที่ควรมี

จะได้เท่ากับ 35 x (40,000 x 12) x (10/100) = 1,680,000 บาท

หลังจากที่เราได้คำนวณหาทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบันและทรัพย์สินที่ควรมีแล้ว ก็จะนำมาปรับเทียบกันได้ดังนี้คือ

ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน : ทรัพย์สินที่ควรมี = 2,500,000 : 1,680,000

จากการเปรียบเทียบโดย ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน : ทรัพย์สินที่ควรมี จะเห็นได้ชัดว่า นายประทีป มีสุขภาพทางการเงินที่ดีเยี่ยม หรือสุขภาพทางการเงินแข็งแรงมาก เพราะมีทรัพย์สินรวมทั้งหมด มากกว่าหนี้สินนั่นเอง

2.ประเมินว่าตอนนี้เรามีหนี้สินมากเกินไปหรือไม่

  • เรื่องของหนี้สินเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องมี แต่จะมีมากหรือมีน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
  • หากคุณคิดจะลงทุน การที่มีหนี้สินมากเกินไปนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน ซึ่งหนี้สินที่มีได้นั้น ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของเงินเดือน
  • ฉะนั้นเราจะมาลองคำนวณดูว่า หนี้สินที่มีตอนนี้มีมากเกินไปหรือไม่ สามารถที่จะลงทุนต่อไปได้หรือไม่
  • เหตุผลที่เราต้องประเมินหนี้สินที่ต้องชำระในแต่ละเดือน ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เราลงทุนเพิ่ม

ตัวอย่างที่ 3 วิธีการประเมินหนี้สิน คำนวณโดยการใช้สูตร

(รายได้ต่อเดือน x (1/3) = ภาระหนี้สินต่อเดือน

นายสมพร มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาท มีหนี้สินที่ต้องชำระในแต่ละเดือน 10,000 บาท

เพราะฉะนั้น หนี้สินของนายสมพร จะต้องมีไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดต่อเดือน หรือไม่เกิน 16,666 บาท

50,000 x (1/3) = 16,666 บาท

จากการคำนวณจะเห็นได้ว่า หนี้สินรวมของนายสมพร น้อยกว่า ⅓ แสดงว่า ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้สินของนายสมพรไม่มากเกินไป สามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้

3. ประเมินว่าตอนนี้เรามีเงินออมสำรองเพียงพอหรือไม่

  • สิ่งหนึ่งที่ต้องมีในการตรวจสอบสุขภาพทางการเงิน ก็คือเงินออมสำรองฉุกเฉิน เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ซึ่งเงินส่วนนี้จะเอาไว้ใช้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น การตกงาน การเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล หรือการซ่อมบ้านซ่อมรถ เป็นต้น สำหรับสูตรการคำนวณหาเงินออมฉุกเฉิน คือ
  • เงินออมสำรองฉุกเฉินควรมีสำรองอย่างน้อย 3-6 เดือน ขึ้นไป

(ค่าใช้จ่ายประจำต่อเดือน) x (6(เดือน)) = เงินออมฉุกเฉิน

ตัวอย่างที่ 4 วิธีการคำนวณหาเงินออมสำรองฉุกเฉิน

นาย สมร มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเดือนละ 15,000 บาท ดังนั้นเงินออมสำรองฉุกเฉินที่นายสมรต้องมีคือ เอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดคูณด้วย 6 เดือน ก็จะได้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน เท่ากับ

15,000 x 6 = 90,000 บาท

เพราะฉะนั้น นายสมร ต้องเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้สำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดฝัน เป็นเงินทั้งหมด 90,000 บาท

ในส่วนของการตรวจสุขภาพทางการเงินนั้น ไม่ควรทำเพียงครั้งเดียวแล้วจบ ควรทำบ่อยๆ อย่างน้อย 3-6 เดือนก็ยังดี เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเงินต่างๆ ที่จะมาถึง และเตรียมวางแผนสำหรับแผนการเงินอย่างอื่นต่อไป เช่น การลงทุน

สิ่งที่ควรทำก่อนเริ่มต้นลงทุน

หลังจากที่เราได้ทำการประเมินสุขภาพทางการเงินไปแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการเริ่มต้นการลงทุน ซึ่งก่อนที่เราจะลงทุนนั้น มีบางอย่างที่ต้องพิจารณาก่อน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณสำหรับการลงทุน แม้ว่าเราจะมีสุขภาพทางการเงินดีก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเริ่มต้นลงทุนในทันที

เพราะมีบางอย่างที่มีความสำคัญมากกว่าการลงทุนเสียอีก และเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามไปด้วย ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มต้นลงทุน อยากจะให้ทุกท่านได้เริ่มต้นทำสิ่งเหล่านี้ให้ครบถ้วนเสียก่อน แล้วจึงตัดสินใจลงทุนในภายหลัง มีอะไรบ้าง

ขั้นตอน 3 ประการในการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มต้นลงทุนอย่างชาญฉลาด

1.จัดทำงบประมาณและวางแผนการชำระหนี้

  • สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การจัดทำงบประมาณและชำระหนี้ หากคุณมีหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิต ให้ชำระหนี้เหล่านั้นให้หมดก่อน โดยแบ่งจ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในแต่ละเดือน
  • ถ้าหากมีหนี้สินอยู่และมีภาระต้องชำระหนี้สินเป็นเงินมากกว่า 1 ใน 3 ของเงินเดือน แสดงว่าคุณยังไม่สามารถลงทุนได้ นอกจากจะชำระหนี้หมดแล้ว

2.เริ่มต้นออมเงินสำรองฉุกเฉิน

  • คุณต้องมีเงินสำรองไว้บ้างในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาอย่างอื่น เช่น การตกงาน
  • โดยทั่วไปแล้วควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 6 เดือนของรายได้ในแต่ละเดือนเอาไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน
  • แม้ว่าคุณจะมีรายได้น้อย ก็คือเริ่มออมเงินฉุกเฉินตั้งแต่วันนนี้ ให้ระลึกเอาไว้เสมอว่า “การเริ่มด้วยเงินจำนวนน้อยย่อมดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย”

3.การออมสำหรับเป้าหมายอื่นๆ

  • มีรายการอื่นๆ ที่คุณอาจต้องจัดสรรเงินสำรองไว้ในบัญชีออมทรัพย์ เช่น การออมสำหรับวันหยุดพักร้อน เงินที่คุณเก็บออมไว้สำหรับดาวน์รถ เงินดาวน์สำหรับซื้อบ้าน การปรับปรุงบ้าน หรืออย่างอื่น
  • บางคนชอบมีบัญชีออมทรัพย์เฉพาะสำหรับรายการเหล่านี้ โดยแยกจากบัญชีออมทรัพย์ฉุกเฉิน
  • ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม อย่าลืมจัดสรรเงินสำหรับรายการอื่นๆ เหล่านี้ เพื่อที่คุณจะไม่ต้องใช้เงินลงทุนระยะยาว

เมื่อคุณคำนวณพื้นฐานและกำหนดเป้าหมายทางการเงินทั้ง 3 ข้อเรียบร้อยแล้ว ต่อไปคุณก็สามารถหาจำนวนเงินที่คุณสามารถลงทุนได้ทุกเดือน โดยอาจจะเริ่มต้นออมเงินสำหรับลงทุนเอาไว้โดยเฉพาะเลยก็ได้ ภายหลังจากการออมสำหรับเรื่องสำคัญครบถ้วนแล้ว การเก็บเงินเพื่อลงทุน ควรเป็นสิ่งสำคัญลำดับสุดท้าย

ขั้นตอนการเริ่มต้นลงทุน

หลังจากที่คุณได้ประเมินสุขภาพทางการเงินเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับจัดทำสิ่งที่ต้องทำก่อนลงทุนทั้ง 3 ข้อ และมีเงินออมในการลงทุนครบแล้ว ต่อไปคุณก็เริ่มต้นลงทุนได้เลย โดยขั้นตอนมีดังนี้คือ

1. กำหนดเป้าหมายทางการเงินของคุณ

  • กำหนดเป้าหมายที่คุณต้องการสำคัญ ว่าคุณลงทุนเพื่ออะไร? เช่น เพื่อการเกษียณอายุ การศึกษาของลูก หรือการท่องเที่ยวรอบโลก
  • การทราบเป้าหมายของคุณจะช่วยกำหนดระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนของคุณ

2. เข้าใจระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้

  • การทราบระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้จะช่วยให้คุณเลือกทางเลือกการลงทุนที่ตรงกับระดับความสบายใจของตนเอง
  • การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็จะสูงตามไปด้วย การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็จะต่ำตามไปด้วยเช่นกัน

3.รู้จักตัวเลือกในการลงทุน

พิจารณาดูว่าตัวเลือกการลงทุนอะไร ที่เหมาะสมกับเป้าหมายและระยะเวลาของเรามากที่สุด

3.1 หุ้น

  • การซื้อหุ้นจะทำให้เราเป็นเจ้าของบริษัทได้เพียงบางส่วน บริษัทมหาชนออกหุ้นเพื่อระดมเงินสำหรับการขยายกิจการ การเติบโต และการดำเนินงานประจำวัน
  • เมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น มูลค่าการลงทุนของคุณก็จะเพิ่มขึ้นด้วย บริษัทบางแห่งยังจ่ายเงินปันผล ทำให้คุณได้ส่วนแบ่งกำไรเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี
  • แต่ข้อเสียของหุ้นก็คือ ตลาดมีความผันผวน และบริษัทอาจล้มละลาย ส่งผลให้สูญเสียเงินทุน

3.2 กองทุนรวม

  • เป็นตัวเลือกที่ดีเมื่อคุณกำลังเรียนรู้วิธีเริ่มต้นการลงทุนและไม่ต้องการจัดการพอร์ตด้วยตัวเอง
  • กองทุนเหล่านี้ดำเนินการโดยผู้จัดการกองทุนที่รวบรวมเงินจากนักลงทุนหลายรายและจัดสรรเงินนั้นไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น พันธบัตร หรือหลักทรัพย์อื่น ๆ
  • ประเภทของกองทุนรวม ได้แก่ กองทุนหุ้น กองทุนพันธบัตร กองทุนตลาดเงิน และกองทุนผสม
  • แต่ก่อนที่จะลงทุนในกองทุนรวมคุณควรตรวจสอบวัตถุประสงค์ ค่าธรรมเนียม และผลงานในอดีตของกองทุนเพื่อเลือกกองทุนที่เหมาะกับคุณ

3.3 พันธบัตร

  • คือการให้กู้ยืมแก่รัฐบาล ดังนั้นเมื่อคุณซื้อพันธบัตร คุณกำลังให้เงินกู้แก่รัฐบาลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยคุณจะได้รับดอกเบี้ยเป็นเปอร์เซ็นต์ในระหว่างช่วงเงินกู้
  • และจะได้รับเงินคืนหลังจากระยะเวลาที่กำหนดพันธบัตรไม่ผันผวนด้านราคาเหมือนหุ้น ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในขณะที่โดยทั่วไปมีความเสี่ยงน้อยกว่า

3.4 สินค้าโภคภัณฑ์

  • เป็นสินทรัพย์ เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ข้าวสาลี โลหะมีค่า และผลิตภัณฑ์พลังงาน
  • การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์โดยการซื้อผลิตภัณฑ์จริงนั้นเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น ผู้คนจึงซื้อโดยใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าและออปชั่น ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง
  • ดังนั้น สินค้าโภคภัณฑ์จึงเหมาะที่สุดสำหรับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญ

3.5 กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF)

  • กองทุนการลงทุนเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับกองทุนรวม เนื่องจากมีการผสมผสานสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร หรือสินค้าโภคภัณฑ์
  • แต่ความแตกต่างก็คือ ETF จะติดตามผลงานของดัชนีหรือกลุ่มกองทุนเฉพาะ เนื่องจากต้องมีการจัดการน้อยกว่ากองทุนรวม ETF จึงคุ้มทุนกว่า

4. กระจายพอร์ตการลงทุนของคุณ:

  • อย่าฝากไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว กระจายการลงทุนของคุณไปยังประเภทสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดผลกระทบของปัจจัยเสี่ยง

5. ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ:

  • พิจารณาปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินที่สามารถช่วยคุณประเมินสถานการณ์ส่วนบุคคลและสร้างกลยุทธ์การลงทุนส่วนบุคคลตามความสามารถในการรับความเสี่ยงและเป้าหมายของคุณ.

สรุปท้ายบท

ตอนนี้เราก็ได้เข้าใจตรงกันแล้วว่า การเริ่มต้นลงทุน ต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง นั่นก็คือต้องเริ่มด้วยการประเมินสุขภาพทางการเงินของตนเองก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะละเลยไม่ได้ เพราะหากไม่ประเมิน โอกาสที่จะประปัญหาทางการเงินมีสูงมาก หลังจากที่ประเมินเสร็จแล้ว ก็ให้จัดทำสิ่งที่สำคัญให้ครบถ้วนก่อน แล้วจึงเริ่มต้นลงทุนในขั้นตอนสุดท้าย

เพราะฉะนั้นสำหรับท่านที่กำลังวางแผนลงทุน ลองตรวจสุขภาพการเงินของตัวเองดูก่อนว่า เราพร้อมที่จะลงทุนจริงหรือไม่ ตามขั้นตอนที่เราได้กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น เชื่อว่าหากทุกคนทำตามขั้นตอนดังกล่าวอย่างครบถ้วน ท่านจะลงทุนได้อย่างสบายใจ และสามารถรับมือกับปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นมาได้ด้วย เพราะเราวางแผนเอาไว้อย่างรอบคอบที่สุดแล้ว