กองทุนรวมสำหรับผู้เริ่มต้น : เลือกกองทุนต้องดูอะไรบ้าง

กองทุนรวมสำหรับผู้เริ่มต้นเลือกกองทุนต้องดูอะไรบ้าง

กองทุนรวมมีหลายประเภทให้เลือกลงทุน การตัดสินใจเลือกกองทุนรวมนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่เป้าหมายที่ต้องการ ระยะเวลา ผลตอบแทนที่คาดหวัง และความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ รวมถึงปัจจัยข้ออื่นๆ

ปัจจุบันการลงทุนในกองทุนรวมได้รับความนิยมค่อนข้างสูง สำหรับคนที่เป็นมือใหม่ การลงทุนในกองทุนรวม ถือว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ ที่มีความยาก และใช้เงินทุนที่สูงกว่า

แต่ถ้านักลงทุนมือใหม่ท่านใดที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกลงทุนอย่างไร ท่านสามารถดูคำแนะนำต่อไปนี้ได้ จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเลือกลงทุนกับกองทุนไหนดี และจะได้ไม่ต้องตัดสินใจผิดพลาดให้เสียเวลา เสียเงินทุนอีกต่อไป

กองทุนรวม คืออะไร?

กองทุนรวม คือเครื่องมือการลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ที่มีการรวบรวมจากนักลงทุนหลายๆ ราย มารวมกันให้เป็นกองทุนขนาดใหญ่ เพื่อใช้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้น และ/หรือการลงทุนในตลาดเงิน ตามนโยบายที่ได้ระบุเอาไว้ในตอนแรก

โดยมีการบริหารงานและดูแลจากมืออาชีพ ที่เรียกว่า “ผู้จัดการกองทุน” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เรื่องการลงทุนโดยเฉพาะ เข้ามาจัดสรรสินทรัพย์ของกองทุนและพยายามสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน

วิธีการเลือกกองทุนรวม ต้องดูอะไรบ้าง

ต้องบอกว่ากองทุนรวมและบริษัทจัดการกองทุนมีหลายประเภท แต่ประเด็นคือแล้วเราจะเลือกกองทุนรวมอย่างไรดี ต่อไปนี้จะเป็นคำแนะนำในการเลือกกองทุนรวม ที่ท่านเอาไปใช้ได้จริง

1.ตั้งเป้าหมายและกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนก่อน

  • กำหนดเป้าหมายที่ต้องการสำเร็จให้ได้ก่อน ว่าเราต้องการบรรลุเป้าหมายอะไร เช่น ต้องการเงินสำหรับเที่ยวภายในสิ้นปี ต้องการเงินสำหรับดาวน์รถ แบบนี้เป็นต้น
  • เมื่อคุณกำหนดได้แล้วว่าต้องการบรรลุในเป้าหมายอะไร ให้พิจารณาในเรื่องของระยะเวลาที่เหมาะสม
  • เช่น หากเป้าหมายของคุณคือต้องการใช้เงินในเร็วๆ นี้ การเลือกในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำในระยะสั้น เป็นตัวเลือกที่ดี
  • แต่ถ้าหากท่านไม่รีบร้อนใช้เงิน มีระยะเวลาเป็น 10 ปี เช่น ก่อนเกษียณอายุ การเลือกลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงในระยะยาว ถือเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์กว่า
  • การกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจน จะทำให้เลือกสินทรัพย์เพื่อลงทุนในกองทุนรวมได้ตรงกับวัตถุประสงค์ของเรายิ่งขึ้น

2.พิจารณาในเรื่องผลตอบแทนของแต่ละกองทุน

  • เป็นการพิจารณาการจ่ายผลตอบแทนของแต่ละกองทุน ว่ามีประวัติการจ่ายอย่างไร พยายามย้อนดูการจ่ายในอดีตให้ได้นานที่สุดยิ่งดี อย่างน้อย 3-5 ปี
  • เมื่อพิจารณาผลตอบแทนในแต่ละกองทุนแล้ว ก็นำมาเปรียบเทียบกับว่า เราควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมไหนดี
  • แต่การเลือกกองทุนอย่าดูเฉพาะในเรื่องการจ่ายผลตอบแทนอย่างเดียว ให้เปรียบเทียบในเรื่องความเสี่ยงด้วย ว่าเหมาะสมกันหรือไม่ และจึงตัดสินใจเลือกในภายหลัง

3.ความเสี่ยงที่เราสามารถยอมรับได้

  • เพราะการลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง ก่อนจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมประเภทใด เราควรประเมินความเสี่ยงก่อน
  • ก่อนลงทุนในกองทุนรวม เราต้องประเมินความเสี่ยงก่อนเสมอ เพื่อกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  • ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมมี 8 ระดับ คือ 1-8 โดยระดับ 1 คือเสี่ยงต่ำสุด และ 8 คือเสี่ยงสูงสุด
  • เมื่อประเมินความเสี่ยงของแต่ละกองทุนแล้ว ให้นำมาเปรียบเทียบกัน ก็จะทำให้ช่วยตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าควรเลือกลงทุนกับกองทุนไหนดี

4.พิจารณาถึงนโยบายของแต่ละกองทุน

  • ให้พิจารณาว่าแต่ละกองทุนมีนโยบายนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ซึ่งสินทรัพย์ที่มีให้ลงทุน แบ่งออกได้ดังนี้คือ

ประเภทของกองทุนรวม

4.1 กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
  • ถือว่าเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุดเมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่น เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ แต่จะได้ผลตอบแทนค่อนข้างน้อย
  • ส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนมักจะใช้เป็นที่ฝากเงิน เช่น การลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้คุณภาพดีอายุต่ำกว่า 1 ปี
4.2 กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
  • เป็นกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงอยู่ในขั้นต่ำถึงปานกลาง มีการจ่ายผลตอบแทนสม่ำเสมอเป็นดอกเบี้ย
  • กองทุนนี้จะเน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงินและ หุ้นกู้ของภาพเอกชน
  • ราคาของกองทุนตราสารหนี้มีการผันผวนได้ตามสภาวะของตลาดในช่วงนั้น ซึ่งอาจจะขึ้นหรือลงก็ได้ ฉะนั้นการลงทุนที่เหมาะสมควรเลือกลงทุนอย่างน้อย 1 ปี ตามคำแนะนำการลงทุน
4.3 กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)
  • เป็นการลงทุนในทรัพย์สินหลายชนิดรวมกัน ได้แก่ ตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์อื่นๆ ส่วนเรื่องของความเสี่ยงและการจ่ายผลตอบแทนนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของสินทรัพย์ที่ลงทุนว่า
  • หากเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในเปอร์เซ็นต์ที่สูง และสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำ ก็แสดงว่ากองทุนนี้มีความเสี่ยงสูง เช่น ลงทุนในหุ้น 90 เปอร์เซ็นต์ ลงทุนในตราสารหนี้ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
  • ในทางกลับกัน หากเลือกลงทุนในทรัพย์สินความเสี่ยงต่ำในเปอร์เซ็นต์ที่สูง และเลือกลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำ ก็แสดงว่ากองทุนนี้มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ลงทุนในหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และลงทุนในตราสารหนี้ 80 เปอร์เซ็นต์
  • กองทุนรวมประเภทนี้ เหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงตั้งแต่ปานกลางถึงไปจนถึงความเสี่ยงสูงได้
4.4 กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) หรือ กองทุนรวมหุ้น
  • กองทุนประเภทนี้เน้นการลงทุนให้หุ้น เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ
  • การลงทุนในกองทุนหุ้น มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเช่นกัน
  • เหมาะกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์ ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงระดับนี้ได้ สามารถลงทุนในระยะยาวได้ และสามารถยอมรับความเสี่ยงการขาดทุนในระยะสั้นได้
4.5 กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF)
  • เป็นกองทุนที่จะนำเงินลงทุนไปลงทุนในกองทุนของต่างประเทศ ลักษณะก็จะคล้ายกับกองทุนรวมในประเทศนั่นเอง เช่น กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนหุ้นต่างประเทศ
  • ด้วยความแตกต่างเรื่องภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสภาพสังคมแตกต่างจากของไทย ฉะนั้นผลตอบแทนที่ได้รับอาจแตกต่างจากการลงทุนในกองทุนรวมในไทย
  • การลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี แต่นักลงทุนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในเรื่องของกองทุนแต่ละกองแล้ว ยังต้องรับความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และความผันผวนของค่าเงินด้วย
4.6 กองทุนรวมที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก (Alternative Investment)
  • เป็นการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกอื่นๆ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำและน้ำมันดิบ
  • กองทุนประเภทเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงในระดับที่สูงที่สุด เพราะราคาสินทรัพย์เหล่านี้มีการผันผวนในเรื่องราคาค่อนข้างสูงมาก และสภาพคล่องอาจน้อยด้วยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น
  • การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ เหมาะกับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในทรัพย์สินประเภทนี้โดยเฉพาะ สามารถยอมรับความเสี่ยงในระดับที่สูง และลงทุนในระยะยาวได้

5.ค่าธรรมเนียมที่จำเป็นต้องจ่าย

  • พิจารณาว่าทางกองทุนมีการจ่ายค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง และจ่ายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตรงนี้จะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าเราควรเลือกหรือไม่
  • หากกองทุนไหนมีค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป ก็อาจทำให้เราได้ผลตอบแทนที่น้อยลง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเปรียบเทียบ ว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่เราจะลงทุน

6.ศึกษาข้อมูลการลงทุนเพิ่มเติม

  • กองทุนแต่ละกองทุน จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมให้นักลงทุนได้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน
  • นักลงทุนควรสละเวลาในการอ่านรายละเอียดเหล่านี้ จะช่วยให้ทราบจุดประสงค์และเป้าหมายของกองทุนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • ที่สำคัญ การที่เข้าใจรายละเอียดของกองทุนทั้งหมด จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าเราจะเลือกลงทุนในกองทุนนี้หรือไม่

สิ่งที่ต้องทำหลังจากเลือกกองทุนรวมได้แล้ว

หลังจากที่เราเลือกได้แล้วว่า อยากลงทุนในกองทุนรวมประเภทใดถึงจะเหมาะสมกับเป้าหมายและระยะเวลา ต่อไปก็คือรายละเอียดที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม มีดังนี้

1.นโยบายของกองทุน

  • กองทุนรวมทุกประเภท จะกำหนดนโยบางเอาไว้อย่างชัดเจนว่าจะลงทุนสินทรัพย์ประเภทใด และกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยให้รู้ได้แน่ชัดว่า กองทุนนี้มีเป้าหมายอย่างไรบ้าง

2.การจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุน

  • หากทางกองทุนมีการกำหนดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผล ให้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าทางกองทุนกำหนดการจ่ายเงินอย่างไร จ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ และมีกำหนดจ่ายกี่ครั้ง
  • ดังนั้นหากทางกองทุนลงทุนแล้วได้กำไร การจ่ายผลตอบแทน ควรเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้นี้เท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น

3.ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทั้งหมด

  • พิจารณาดูว่าทางกองทุนมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง และมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน

4.ผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน

  • ให้ตรวจสอบผลการทำงานย้อนหลังของกองทุน ยิ่งตรวจสอบลงไปได้ลึกเท่าไหร่ยิ่งดี อาจจะ 3-5 ปี เพื่อดูว่าตั้งแต่กองทุนนี้ก่อตั้งขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วกองทุนนี้ทำกำไรหรือขาดทุนมากกว่ากัน

5.ระดับความเสี่ยงของกองทุน

  • ระดับความเสี่ยงของการทุนรวมจะมีตั้งแต่ระดับ 1-8 พิจารณาดูว่ากองที่เราเลือกลงทุนนั้น มีความเสี่ยงอยู่ในระดับใด
  • นอกจากนี้ยังจะบอกรายละเอียดของความเสี่ยงเอาไว้ด้วยว่า เสี่ยงจากอะไรบ้าง เช่น จากอัตราดอกเบี้ย จากการผิดนัดจ่ายผลตอบแทน เป็นต้น จะช่วยให้ท่านตัดสินใจเลือกลงทุนได้ง่ายขึ้น

ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวม

ท่านใดที่ยังลังเลอยู่ว่าจะลงทุนในกองทุนรวมดีหรือไม่ ลองดูข้อดีต่อไปนี้ แล้วท่านจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

1. บริหารงานโดยมืออาชีพโดยตรง

  • การจัดการกองทุนจะถูกดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และความรู้เรื่องการลงทุนโดยเฉพาะ จาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) หรือ บริษัทจัดการ

2. มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม

  • โดยทางผู้จัดการกองทุนรวมจะนำเงินในกองทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่แตกต่างกัน
  • ซึ่งตรงนี้จะเป็นการกระจายและช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างดี และมีโอกาสได้ตอบแทนที่เพิ่มขึ้นด้วย

3. มีสภาพคล่องสูง

  • นักลงทุนสามารถขายหน่วยการลงทุนที่อยู่ในมือไปเป็นเงินสดได้ โดยการขายให้กับบริษัทจัดการ หรือนำไปขายให้กับนักลงทุนท่านอื่นเพื่อเปลี่ยนมือ
  • ซึ่งตรงนี้ดีมาก และเหมาะกับคนที่อาจต้องใช้เงินฉุกเฉิน

4. ทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย

  • อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ากองทุนมีหลายประเภทให้เลือก และแต่ละกองทุนก็มีนโยบายที่แตกต่างกัน นักลงทุนจึงสามารถเลือกลงทุนกับกองทุนที่ตรงกับเป้าหมายที่ตนเองต้องการที่สุดได้

5. มีการป้องกันผู้ลงทุนในกองทุนรวม

  • โดยผู้ที่เข้ามาดูแล้วก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้ดูแลและกำหนดกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจ รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้กับนักลงทุนได้เข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ
  • ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ลงทุนถูกเอารัดเอาเปรียบ

การลงทุนในกองทุนรวม เหมาะกับใครบ้าง

  • นักลงทุนมือใหม่ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนมาก่อน
  • นักลงทุนที่ไม่มีเวลาในการติดตามพอร์ตการลงทุนหรือมีเวลาน้อย
  • ผู้ที่ไม่มีเวลาในการติดตามพอร์ตลงทุน
  • นักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนมืออาชีพช่วยจัดการให้ ซึ่งอาจจะเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์หรือมีเวลาก็สามารถลงทุนได้

สรุปท้ายบท

มาถึงตรงนี้ทุกท่านก็คงได้เข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมไปบ้างแล้ว ว่ามีกองทุนประเภทใดบ้าง และเราควรเลือกกองทุนแบบไหน ถึงจะตอบโจทย์เป้าหมายที่เราวางเอาไว้ และระยะเวลาที่เรากำหนด เพราะฉะนั้น ตอนนี้ท่านก็ไม่ต้องลงเลอีกต่อไป สามารถเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมได้เลย เชื่อว่าท่านจะตัดสินใจได้อย่างรอบคอบที่สุด

หรือหากนักลงทุนมือใหม่ท่านใดยังลังเลอยู่ เราขอแนะนำว่า ให้ท่านปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนเพิ่มเติมก็ได้ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้ท่านตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น รอบคอบยิ่งขึ้นและได้รับคำแนะนำดีๆ เอามาใช้ในการลงทุนด้วย ดีกว่าตัดสินใจเองซึ่งอาจจะมีความเสี่ยง เพียงเท่านี้ท่านก็มีโอกาสทางการเงินที่สวยงามในอนาคตแล้ว ตามเป้าหมาย และระยะเวลาที่กำหนดแค่คุณเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้เท่านั้น