ขั้นตอนง่ายๆ ในการวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ สำหรับการอนาคต

หลายคนอาจคิดว่าการวางแผนการเงินเป็นเรื่องยุ่งยากและต้องใช้ความรู้มากมาย แต่รู้ไหมว่าการวางแผนการเงินที่ดีนี่แหละ ที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือการเกษียณอายุอย่างสบาย ๆ 

ในบทความนี้เรามีขั้นตอน “5 วิธีวางแผนการเงินง่ายๆ” มาแนะนำ เพื่อให้คุณเริ่มต้นวางแผนการเงินของตัวเองได้อย่างรอบคอบ พร้อมตัวอย่างแบบเข้าใจง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้

กำหนดเป้าหมายทางการเงิน

1.1 เป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

        ขั้นตอนแรกของการวางแผนการเงิน คือ “การกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน” โดยแบ่งออกเป็นระยะเวลา 3 ช่วง ได้แก่

  • เป้าหมายระยะสั้น (1-2 ปี) เช่น การเก็บเงินออมไว้เผื่อฉุกเฉิน 3-6 เดือนของค่าใช้จ่าย หรือ ชำระหนี้บัตรเครดิตให้หมด
  •  เป้าหมายระยะกลาง (3-5 ปี) เช่น เก็บเงินดาวน์บ้าน หรือเริ่มลงทุนในกองทุนรวม 
  • เป้าหมายระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) เช่น การวางแผนเกษียณอายุ การออมเงินเพื่อการศึกษาของลูกในอนาคต 

         การที่คุณกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน จะทำให้คุณมีแรงจูงใจในการบริหารเงินอย่างมีวินัยมากขึ้นและรู้ว่าคุณกำลังทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร เช่น ถ้าคุณอยากมีเงินออม 500,000 บาท ไว้ใช้ตอนอายุ 60 คุณก็จะมีภาพที่ชัดว่าต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่ หรือต้องได้ผลตอบแทนจากการลงทุนปีละกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

1.2 ใช้หลัก SMART ในการตั้งเป้าหมาย

เพราะเป้าหมายที่ดี ควรมีลักษณะเป็นไปตามหลัก SMART ได้แก่

  • Specific: เป็นเป้าหมายที่มีความ “ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง” ต้องไม่คลุมเครือ 
  • Measurable: ต้องสามารถ “วัดผลได้” ชัดเจน เพื่อให้เราสามารถรู้ว่าเราอยู่ส่วนไหนของแผน
  • Achievable: ต้องเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ หรือ “สามารถทำให้สำเร็จได้”
  • Realistic: สอดคล้องกับชีวิตและอยู่บน “พื้นฐานของความเป็นจริง”
  • Time-bound: มีการกำหนด “กรอบเวลาที่แน่ชัด” ว่าเป้าหมายนี้จะใช้เวลาเท่าไหร่ เช่นการที่แบ่งออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

1.3 จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการกำหนดเป้าหมาย คือ การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายเหล่านั้น เพราะไม่ใช่ทุกเป้าหมายที่จะสำคัญเท่ากัน และเนื่องจากทรัพยากรทางการเงินของเรามีจำกัด การจัดลำดับความสำคัญจะช่วยให้เราสามารถบริหารเงินของเราได้ดีมากขึ้น

ตัวอย่างแนวทางในการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายทางการเงิน

  1. ชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง: ที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ เพราะจะทำให้เราหลุดพ้นการเป็นหนี้ได้เร็วขึ้น เช่น หนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล หนี้ประเภทนี้จะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ดังนั้นการปิดหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงก่อน จะช่วยให้เราจ่ายดอกเบี้ยลดลงได้เยอะมาก
  2. เงินออมฉุกเฉิน: จะช่วยให้เรามีความมั่นคงทางการเงินและรับมือกับกรณีฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องไปก่อหนี้เพิ่ม ซึ่งถ้าจะให้ดีควรมีเงินออมฉุกเฉินอยู่ที่ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน (กรณีที่เป็นมือใหม่ อาจเริ่มต้นตั้งเป้าไว้ที่ 3 เดือนของค่าใช้จ่าย)
  3. เริ่มลงทุนเพื่อเกษียณ: การเริ่มต้นเร็วจะช่วยให้เราได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้นของการลงทุน และการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนระยะยาวตั้งแต่เนิ่น ๆ จะยิ่งช่วยความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. เป้าหมายอื่น ๆ: หลังจากจัดการกับเป้าหมายที่สำคัญหลัก ๆ ไปแล้ว เราก็สามารถวางแผนสำหรับเป้าหมายอื่น ๆ ได้ เช่น การซื้อบ้าน หรือการท่องเที่ยว ตามความสำคัญและความเร่งด่วน

Tip: เพื่อช่วยในการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายทางการเงิน เราสามารถใช้เทคนิคการให้คะแนนแต่ละเป้าหมายตามเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น สำคัญไหม เร่งด่วนหรือไม่ และเป็นไปได้แค่ไหนที่จะทำให้สำเร็จ วิธีนี้จะช่วยให้เราประเมินและเห็นภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เทคนิคการให้คะแนนแต่ละเป้าหมายตามเกณฑ์ต่าง ๆ ช่วยให้เราประเมินและเห็นภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

1.4 คำนวณและระบุตัวเลขของเป้าหมายที่ต้องการ

นอกจากนี้แล้ว สิ่งสำคัญของการกำหนดเป้าหมาย คือ ต้อง “ระบุตัวเลขที่ชัดเจนด้วย” โดยคำนวณให้ได้ว่าในแต่ละช่วงชีวิต เราจะต้องใช้เงินเท่าไหร่บ้าง เช่น เมื่อแต่งงาน มีลูก หรือเกษียณอายุ ซึ่งสามารถคำนวณได้จากการสำรวจค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน และประเมินค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากนั้นจึงกำหนดจำนวนเงินที่ต้องเก็บในแต่ละเดือน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราอายุ 30 ปี มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายประจำเดือน 20,000 บาท เราตั้งเป้าจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และต้องการมีเงินใช้เดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 20 ปีหลังเกษียณ เราจะต้องมีเงินเก็บประมาณ 7.2 ล้านบาท (30,000 x 12 เดือน x 20 ปี) ดังนั้น เราจึงต้องเก็บเงินอย่างน้อยเดือนละ 8,000-10,000 บาท เป็นเวลา 30 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอตอนเกษียณนั่นเอง

2. ปรับพฤติกรรมการใช้เงิน

2.1 จัดทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน

เมื่อกำหนดเป้าหมายและรู้จำนวนเงินที่ต้องเก็บในแต่ละเดือนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสร้างงบประมาณรายรับ-รายจ่าย เพื่อควบคุมการใช้จ่ายให้อยู่ในกรอบที่กำหนด โดยเริ่มจากบันทึกรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน ทั้งรายได้ประจำจากเงินเดือน และรายได้พิเศษอื่น ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ/ไฟ และค่าใช้จ่ายผันแปร เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าช้อปปิ้ง ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน

จากนั้นจึงนำรายรับมาหักลบรายจ่าย เพื่อดูว่ามีเงินเหลือพอที่จะเก็บออมตามเป้าหมายหรือไม่ หากไม่พอ เราอาจต้อง “ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง” หรือ “หารายได้เพิ่มเติม”

2.2 แยกบัญชีเงินออมออกจากบัญชีใช้จ่าย

เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณสามารถเก็บเงินได้ตามเป้า โดยหักเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีเงินออมทุกครั้งที่ได้รับเงินเดือน ก่อนที่จะนำเงินที่เหลือไปใช้จ่าย วิธีนี้จะทำให้เรามีวินัยในการออมมากขึ้น และไม่หวั่นไหวกับสิ่งยั่วยุ

นอกจากนี้ เรายังสามารถตั้ง “บัญชีออมอัตโนมัติ (Auto Savings)” เพื่อให้ธนาคารหักเงินเข้าบัญชีเงินออมให้อัตโนมัติทุกเดือน โดยไม่ต้องมานั่งหักออกเอง ซึ่งมีความสะดวกและลดโอกาสที่จะลืมออมเงินในแต่ละเดือน

3. สร้างความมั่นคงทางการเงินด้วยการลงทุน

3.1 เลือกการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง

เงินออมอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เรามีเงินใช้ตลอดวัยเกษียณ เนื่องมาจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ

  • อัตราดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างต่ำ
  • มูลค่าของเงินในอนาคตลดลง (เงินเฟ้อ) 

เราจึงควรนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคารเฉย ๆ เช่น พันธบัตร กองทุนรวม หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะกับ “ความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้” และ “และผลตอบแทนที่ต้องการ” ยกตัวอย่างเช่น

  • หากคุณเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มลงทุน และไม่ชอบความเสี่ยง อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมผสมที่มีสัดส่วนตราสารหนี้สูง ซึ่งให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ และมีความผันผวนต่ำ 
  • แต่หากต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น และพร้อมรับความเสี่ยง คุณอาจจัดพอร์ตให้มีสัดส่วนหุ้นมากขึ้น หรือกระจายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน และอสังหาริมทรัพย์

คนที่เพิ่งเริ่มลงทุนอาจเริ่มจากกองทุนความเสี่ยงต่ำ-ปานกลางก่อน แล้วค่อยปรับพอร์ตเมื่อมีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น

3.2 ศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินในลงทุน” ดังนั้นก่อนที่เราจะลงทุนอะไร เราต้องศึกษาหาข้อมูลกองทุนหรือหุ้นจากแหล่งที่เชื่อถือได้ก่อน เพื่อจะได้นำมาประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภท

นอกจากนี้ เรายังควรติดตามข่าวสารการลงทุน รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจ เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด และลองเรียนรู้จากประสบการณ์ของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในตลาดนั้น ๆ เพื่อให้การตัดสินใจลงทุนมีหลักการและเหตุผลรองรับ ไม่ใช่ลงทุนตามกระแสหรืออารมณ์ชั่ววูบ

4. ป้องกันความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัย

4.1 ทำประกันสุขภาพและประกันชีวิต

บางครั้งการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ มักจะมาพร้อมกับภาระทางการเงินก้อนโต ดังนั้นคุณควรป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยการทำประกันเอาไว้ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลของคุณได้อย่างมาก และชดเชยรายได้จากการทำงานที่เราเสียไปตอนเจ็บป่วย

การเลือกแบบประกันขึ้นอยู่กับความต้องการและงบประมาณของแต่ละคน เพราะประกันสุขภาพมีทั้งแบบจ่ายตามจริง ที่เราสามารถเลือกโรงพยาบาลได้เอง และแบบชดเชยรายวัน ที่จะจ่ายเงินให้ตามจำนวนวันที่เรานอนโรงพยาบาล ส่วนประกันชีวิตก็มีหลากหลายรูปแบบเช่นกัน ก่อนเลือกซื้อจึงควรศึกษารายละเอียดความคุ้มครองและข้อยกเว้นของกรมธรรม์ให้เข้าใจดีซะก่อน

4.2 การทำประกันบำนาญและประกันระยะยาวเพื่อชีวิตหลังเกษียณ

นอกจากประกันสุขภาพและประกันชีวิตแล้ว คุณอาจจะทำประกันบำนาญหรือประกันระยะยาวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงตอนเกษียณอายุ โดยที่

  • ประกันบำนาญ: จะช่วยให้คุณมีรายได้ทดแทนหลังออกจากงาน 
  • ประกันระยะยาว: จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเมื่อเข้าสู่วัยชรา

ทั้งนี้ คุณควรศึกษาเงื่อนไขและความคุ้มครองของประกันแต่ละประเภทอย่างละเอียด เปรียบเทียบเงื่อนไขประกันจากหลายๆ บริษัท และเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับความต้องการและงบประมาณของตัวเอง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนตัดสินใจ

5. ติดตามและปรับแผนการเงินเป็นระยะ

5.1 ตรวจสอบความคืบหน้าตามเป้าหมาย

หลังจากเริ่มต้นวางแผนการเงินทั้งหมดแล้ว อย่าลืมติดตามผลเป็นระยะ หรืออย่างน้อยก็ควรเช็คทุก ๆ 6 เดือน โดยตรวจสอบว่ามีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เช่น ตรวจสอบยอดเงินออมในแต่ละกองทุนว่าเพิ่มขึ้นตามแผนหรือไม่ หรือดูผลตอบแทนจากการลงทุนว่าเป็นไปตามที่คาดหวังหรือเปล่า 

หากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามแผน ก็ให้คุณลองวิเคราะห์หาสาเหตุและปรับแผนให้เหมาะสม เช่น หากคุณออมได้น้อยกว่าเป้า คุณอาจจะต้องปรับลดค่าใช้จ่ายลง หรือไม่ก็หารายได้พิเศษเพิ่มขึ้น 

5.2 ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ชีวิตที่เปลี่ยนไป

การวางแผนการเงินไม่ใช่สิ่งตายตัว เพราะชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนงาน, การแต่งงาน, การมีลูก หรือการเกษียณ ดังนั้นเราจึงควรทบทวนและปรับแผนการเงินให้สอดคล้องกับความต้องการและเป้าหมายที่เปลี่ยนไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีลูก คุณอาจจะต้องเพิ่มเงินออมในส่วนของการศึกษาของลูกในอนาคต หรือซื้อประกันชีวิตเพิ่ม

สรุป

การวางแผนการเงินเป็นทักษะสำคัญที่ทุก ๆ คนสามารถทำตามได้ และเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างรอบคอบและต่อเนื่อง หากเราวางแผนการเงินอย่างมีวินัยและยึดมั่นในเป้าหมายที่วางไว้ เราก็จะสามารถสร้างความมั่นคงและอิสรภาพทางการเงินได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเงินได้อย่างสบายใจ การไม่มีหนี้สิน หรือการเกษียณอายุอย่างมีความสุขและมั่นคง ซึ่งถือเป็นความฝันของใครหลายๆ คนในสังคมปัจจุบัน

ดังนั้น คุณจึงควรเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อวางรากฐานชีวิตที่มั่นคงในอนาคต และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น การเตรียมตัวพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรให้ความใส่ใจ ทั้งเพื่อตัวของคุณเองและคนที่คุณรัก

แหล่งที่มา

การวางแผนการเงิน. ธนาคารแห่งประเทศไทย (bot.or.th)

How to จดรับ – จ่ายอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (set.or.th)

ช่วงชีวิตเปลี่ยน แผนการเงินต้องเปลี่ยน (setinvestnow.com)